ให้ยึดหลักว่าหลวงปู่ดู่ท่านมิได้มาบัญญัติแนวทางการปฏิบัติใหม่ๆ อะไรขึ้นมา ท่านก็สอนให้เจริญศีล สมาธิ ปัญญา อย่างที่พระพุทธเจ้าสอน ซึ่งในภาคสมาธิ ก็แยกเป็น ๒ งาน (ที่เรียกว่างานก็เพราะหลวงปู่เรียกการเจริญกรรมฐานว่า การทำงาน)
งานแรก คือ การทำจิตให้ทรงตัวเป็นสมาธิ เพื่อทำให้จิตอิ่ม มีกำลัง มีความใสกระจ่าง เพื่อเป็นเครื่องอยู่คือให้จิตมีความสุขด้วยตัวของตัวเองอย่างหนึ่ง อีกอย่างก็เพื่อเอาไว้ต่อยอดสำหรับการทำงานอย่างที่ ๒ คือการพิจารณาทางด้านปัญญา เช่น ความแก่ ความเจ็บไข้ ความตาย ความพลัดพราก รวมทั้งพิจารณาสังขารร่างกายลงในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
สำหรับการงานอย่างแรก หากคุ้นเคยกับการดูลมหายใจหรือใช้คำบริกรรมอย่างใดมา ก็ให้ใช้อย่างนั้นไป ส่วนใครยังไม่เคยบริกรรมใดๆ มา หลวงปู่มักแนะนำให้บริกรรมไตรสรณคมน์ คือ “พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ”
นอกจากนี้ ก็ไม่ให้มองข้ามอิริยาบถอื่นๆ นอกเหนือจากการนั่งหลับตาภาวนา (เพราะเป็นเวลาส่วนใหญ่ของชีวิต) เช่นเวลาทำงาน ควรแบ่งใจบริกรรมภาวนาหรือมีสติระลึกรู้การเคลื่อนไหวของกายไปพร้อมกับการงานภายนอกนั้นประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งก็ต้องคอยมีสติปัญญารักษาใจเราให้เป็นปรกติ สงบเย็น อย่าให้กระเพื่อมนัก อย่าหลงยินดี ยินร้าย หรือปล่อยให้อารมณ์โกรธ โลภ หลง เข้าครอบงำใจดังที่หลวงปู่พร่ำสอนว่า “ให้หมั่นดูจิต รักษาจิต”
นอกจากนี้ หลวงปู่ท่านสอนให้มองสิ่งต่างๆ รอบตัวให้เป็นธรรมะ ท่านยังว่าโรงเรียนสอนธรรมะที่ดีแห่งหนึ่งก็คือโรงพยาบาล มีให้เห็นครบไม่ว่าทุกข์จากการเกิด แก่ เจ็บ และตาย
หลวงปู่ไม่เคยสอนให้ปฏิบัติเพื่อให้ได้ฤทธิ์อภิญญา นั่นไม่ใช่เป้าหมาย เพราะยังเป็นเรื่องโลกียะ พาให้เวียนวนกับโลภ โกรธ หลง หลวงปู่ท่านสอนให้ปฏิบัติเพื่อให้มีธรรมเป็นที่พึ่ง
เราเจริญสติ สติก็เจริญในเรา เราเจริญปัญญา ปัญญาก็เจริญในเรา แล้วสติธรรม ปัญญาธรรม ก็จะเป็นที่พึ่งแก่เรา มาปกปักรักษาเรา ดังที่ว่าธรรมย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม ให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่ต้องเผชิญกับโลกธรรม และความจริงของชีวิตคือความแก่ ความเจ็บ ความตาย และความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก
เล่าโดยสรุปเพื่อผู้มีศรัทธาในหลวงปู่ดู่ รวมทั้งมีฉันทะต่อการปฏิบัติภาวนา
“พอ” (๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๑)