“หลายปีแห่งการเรียนรู้ที่วัดสะแก ตอนที่ ๑ เรื่องวุ่นๆ เกี่ยวกับหนังสือหลวงปู่”
ลุงสิทธิ์เข้าวัดสะแก มากราบและฟังธรรมหลวงปู่ดู่ ในราวปลายปี พ.ศ. ๒๕๒๕ (ก่อนหลวงปู่มรณภาพราว ๗ ปี) โดยการแนะนำของคุณวรวิทย์ ด่านชัยวิจิตร โดยไปพร้อมๆ กับคุณเมธา และคณะชมรมพุทธศาสน์ มธ.
ด้วยความประทับใจในองค์หลวงปู่ รวมทั้งโอวาทสั้นๆ แต่กินใจ และนำไปใช้ได้จริง ตลอดถึงปฏิปทาที่เข้ากันได้กับพระสุปฏิปันโนทั้งหลาย และความเรียบง่ายเป็นกันเองของหลวงปู่ ลุงสิทธิ์และเพื่อนๆ หลายคน จึงชอบที่จะไปกราบหลวงปู่ทุกๆ สัปดาห์ในช่วงที่ยังเป็นนักศึกษา แม้ทำงานแล้ว ก็ยังชอบที่จะไปกราบหลวงปู่ บางครั้งท่านให้นั่งสมาธิที่ด้านในกุฏิท่าน บางครั้งก็ให้พากันไปภาวนาที่กุฏิหลวงน้าสายหยุด
ด้วยเหตุปัจจัยที่ลุงสิทธิ์พอมีทักษะในการทำหนังสือ ถ้าไม่นับหนังสือไตรรัตน์ เล่มเล็กๆ เล่มแรกของหลวงปู่ ที่คุณเมธาทำโดยลำพัง (ซึ่งเป็นเล่มเดียวที่มีโอกาสอ่านถวายหลวงปู่เพื่อให้ท่านได้ตรวจทาน) หนังสือธรรมะหลวงปู่เล่มต่อๆ มาที่พิมพ์แจกเป็นธรรมทาน ณ วัดสะแก ล้วนผ่านมือลุงสิทธิ์ คือลุงสิทธิ์จัดเตรียมต้นฉบับและประสานกับสำนักพิมพ์เองทั้งสิ้น โดยเนื้อหาหลักยังเป็นของคุณเมธา แต่ในเล่มหลังๆ จะมีบทความส่งมาร่วมทั้งจากศิษย์อาวุโสและเพื่อนๆ ชมรมพุทธ มธ. ซึ่งสมัยนั้น ไม่มีศิษย์คนไหนทำ ก็มีเพียงทางลุงและคุณเมธาที่จัดทำ ซึ่งเป็นที่รู้กันในหมู่ศิษย์
พูดถึงเรื่องหนังสือ ก็มีประเด็นหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ ซึ่งศิษย์อาวุโสซึ่งเป็นที่ปรึกษาในการจัดทำ แนะนำว่าควรระบุลิขสิทธิ์เพราะไม่ไว้ใจทางวัด คุณเมธาและลุงก็เลยระบุเป็นกลางๆ ไว้ที่หน้ารองปก ว่าหากสนใจจัดพิมพ์แผยแพร่ ก็ให้ติดต่อชื่อท่านที่ปรึกษา ซึ่งได้กลายเป็นปมประเด็นนับตั้งแต่นั้นมา
ภายหลังหลวงปู่มรณภาพ ได้มีผู้นำบทความของคุณเมธาและของลุงสิทธิ์ไปรวมกับบทความของเขาแล้วพิมพ์จำหน่าย แถมยังมีการระบุลิขสิทธิ์ (ซึ่งจริงๆ สำหรับท่านที่เป็นนักอ่าน จะแยกแยะได้ไม่ยาก เพราะลีลาสำนวนการเขียนของแต่ละคนย่อมแตกต่าง)
นี้เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ลุงและคุณเมธาได้หารือกันว่า เราดูคนผิดไปจริงๆ สมัยที่เราเป็นนักศึกษาและอ่อนต่อโลก มองว่าคนวัดทุกคนเป็นคนดี เป็นการมองโลกสวย แต่ไม่ตั้งอยู่บนความจริง ถ้าปล่อยอย่างนี้ เราสองคนอาจเจอข้อหาขโมยหรือละเมิดลิขสิทธิผลงานเขียนของตัวเอง จึงเป็นที่มาของการรวบรวมประวัติและคำสอนของหลวงปู่ฉบับที่ไม่เอาบทความจากท่านอื่นที่ส่งมาร่วมอีกแล้ว หากแต่จะเอาเฉพาะบทความของคุณเมธา ลุงสิทธิ์ และเพื่อนๆ ชมรมพุทธ มธ. เท่านั้น กลายมาเป็นหนังสือ “๑๐๑ ปี หลวงพ่อดู่ พรหมปัญโญ” และต่อยอดมาเป็น “ตามรอยธรรม ย้ำรอยครู หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ” ในเวลาต่อมา
นอกจากนี้ คุณเมธาก็ได้เรียบเรียงเนื้อหาบทความใหม่ นำไปพิมพ์จำหน่าย อาศัยกลไกการตลาดเพื่อเรียกลิขสิทธิ์กลับคืนมา โดยรายได้ทั้ง ๑๐๐% นำไปทำบุญกับมูลนิธิพระดาบส และโรงพยาบาลต่างๆ
จบเรื่องเล่าตอนที่ ๑ เรื่องวุ่นๆ เกี่ยวกับหนังสือหลวงปู่
ไว้จะเล่าเรื่องเกือบถูกดักตีหัวกระบาลเพราะความโง่ของตัวเองในตอนต่อไป ^___^
“พอ” (๑๔ เมษายน ๒๕๖๔)
“หลายปีแห่งการเรียนรู้ที่วัดสะแก ตอนที่ ๒ เกือบถูกดักตีหัวกระบาลเพราะความโง่ของตัวเอง”
เล่าย้อนไปภายหลังหลวงปู่มรณภาพ ใกล้ถึงวันพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ ศิษย์อาวุโสของหลวงปู่คนหนึ่งปรารภกับลุงสิทธิ์และเพื่อนๆ บ่อยครั้งว่า น่าจะหาโอกาสไปพิสูจน์ร่างหลวงปู่นะ สงสัยว่าป่านนี้กรรมการวัดเขาคงขโมย “ฟัน” ของหลวงปู่ไปแล้ว
ด้วยความอ่อนต่อโลกอีกเช่นเคย จึงติดต่อทางวัดขอตรวจดูสรีระสังขารหลวงปู่ก่อนพระราชทานเพลิง โดยที่มองข้ามจิตใจของกรรมการวัด ว่าการกระทำเช่นนี้ เป็นการไม่ให้เกียรติ หรือไม่ไว้วางใจพวกเขา ถือเป็นการหยามเกียรติพวกเขาอย่างมาก
หลังจากลุงสิทธิ์นำหมู่คณะกราบขอขมาหลวงปู่ ทางวัดก็เปิดโลงหลวงปู่ เห็นร่างหลวงปู่ขาวโพลนด้วยปูนขาวที่ทางวัดโรยป้องกันเชื้อรา
ครั้งนั้น ลุงสิทธิ์กลับไม่ได้สนใจเรื่องฟันหลวงปู่ แต่ได้กราบขอขมาหลวงปู่แล้วเอานิ้วกดที่น่องหลวงปู่ แปลกมากที่พบว่าเนื้อน่องหลวงปู่ยังมีความยืดหยุ่น
เมื่อคณะที่ไป พบว่าฟันหลวงปู่ยังอยู่ มิได้ถูกผู้ใดขโมยไป ก็ขอโทษและขอบคุณกรรมการวัดที่เปิดโอกาสพิสูจน์สรีระสังขารหลวงปู่เพื่อความสบายใจ (จะว่าเป็นความสบายใจของใคร ลุงสิทธิ์นึกย้อนหลังก็ยังงงๆ เพราะพวกเราก็ไม่เคยนึกสงสัยเรื่องอย่างนี้)
จุดสำคัญในวันนั้นคือ กรรมการวัดท่านหนึ่ง (น่าจะดื่มสุรามาด้วย เพราะได้กลิ่นสุรา) ได้สารภาพว่า เขาได้เตรียมไม้หน้าสามไว้ตีกระบาลพวกที่หยามเกียรติพวกเขา นี่เพราะเกรงใจคุณวรวิทย์ซึ่งคุณพ่อเป็นประธานหอการค้าอยุธยา มาด้วย จึงยับยั้งตัวเองไว้
โอ้ ได้ยินอย่างนี้แล้ว จึงสะท้อนใจว่าเราตกเป็นเครื่องมือของใครเขาอีกแล้ว ช่างโง่จริงหนอเรา มิได้คิดถึงจิตใจของฝั่งกรรมการวัดเลย มัวแต่เคลิ้มตามคำบอกเล่าของผู้ที่กลัวว่าฟันหลวงปู่จะถูกขโมย จนเกือบจะเอาตัวเองมาเสี่ยงอันตรายแทนเขา โดยที่ตัวเขาก็มิได้ร่วมไปกับคณะด้วย
เรื่องนี้ สอนให้รู้ว่า ไม่ว่าอยู่ทางโลก หรือวัดวา ก็ล้วนต้องใช้ปัญญาให้มากๆ อย่าฟังอะไรโดยไม่ไตร่ตรอง อย่าเป็นเครื่องมือของใครโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ กาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์คน
“พอ” (๑๔ เมษายน ๒๕๖๔)
“หลายปีแห่งการเรียนรู้ที่วัดสะแก ตอนที่ ๓ ยอมโดนด่าแลกกับการรักษาปฏิปทาและคำสอนหลวงปู่”
ภายหลังหลวงปู่มรณภาพ มีเว็บไซต์เผยแพร่คำสอนหลวงปู่เกิดขึ้น ลุงสิทธิ์รู้สึกดีใจที่มีผู้ศรัทธาหลวงปู่มากมาย จึงไปร่วมให้ข้อมูลความรู้พร้อมไฟล์ภาพหลวงปู่ ดูว่าหลายคนตื่นเต้นกับไฟล์รูปขนาดใหญ่ที่ลุงสิทธิ์นำไปลง (เพราะลุงสิทธิ์ทำหนังสือหลวงปู่มาหลายเล่ม จึงรวบรวมรูปหลวงปู่ไว้มาก)
แต่ครั้นลงบทความที่ขัดกับความศรัทธาอันใหม่ของเขา เขาก็ลบโพสต์ของเราเสีย หรือเราไปคอมเมนต์ว่านั่นไม่ใช่คำสอนหลวงปู่นี่นา เอามาจากไหน ก็มักโดนลบเช่นกัน เลยสรุปว่าเขาไม่ได้ต้องการคำสอนแท้ของหลวงปู่แต่อย่างใด คำสอนใดของหลวงปู่ที่ไม่ไปขัดแย้งกับแนวความเชื่อของเขาเท่านั้น เขาจึงจะรับ ที่น่าอันตรายก็คือ ไม่ว่าใครแว่วเสียงอะไรเข้ามาในใจ ก็จะนำมาเผยแพร่ว่าเป็นโอวาทหลวงปู่ (ทราบเพราะเว็บแอดมินท่านหนึ่งเล่าให้ฟัง)
ลุงสิทธิ์เริ่มเห็นภัยว่าคำสอนหลวงปู่ ท่าจะเป็นอันตรายเสียแล้ว จึงได้ร่วมกับคุณเมธาทำเว็บไซต์ luangpordu.com ต่อมาเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง ลุงก็ขยับขยายมาเขียนในเฟสบุ๊ค ดังที่เห็น โดยมีคุณหมอท่านหนึ่ง ขออนุญาตทำเพจ หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ ปฏิปทาและคำสอน เพื่อขอคอปปี้บทความลุงสิทธิ์ไปเผยแพร่ต่อ
ลุงสิทธิ์มีจุดยืนว่าจะไม่ไปว่ากล่าวใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นตัวบุคคล มุ่งเพียงจะปกป้องรักษาคำสอนหลวงปู่เป็นสำคัญ จึงนำเสนอเพียงว่าคำสอนที่เผยแพร่นั้นๆ ใช่หรือไม่ใช่ของหลวงปู่ พร้อมแจกแจงเหตุผลที่ชัดเจน เพื่อคนรุ่นใหม่จะได้ทราบข้อเท็จจริง รวมทั้งนำคำสอนหลวงปู่ พร้อมตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพ เพื่อประโยชน์ในการนำไปปรับใช้ หรือเพื่อความเข้าใจคำสอนหลวงปู่ในแง่มุมที่กว้างและลึกขึ้น
หลายปีที่ผ่านมา ลุงสิทธิ์ต้องแลกกับคำเสียดสี บางครั้งก็หยาบคายมาก หรือที่บ่อยครั้งที่สุดก็คือยกคำหลวงปู่ที่ว่า “คนดีไม่ตีใคร” ซึ่งลุงสิทธิ์อยากจะถามเหลือเกินว่าความพยายามจะรักษาความบริสุทธิ์ในคำสอนของครูบาอาจารย์ เรียกว่าเป็นการ “ตี” ใครๆ เช่นนั้นหรือ
ทำไมจึงไม่คิดในมุมกลับกันว่า นี้เป็นเพียงการตั้งรับจากการถูกตีต่างหาก ปฏิปทาและคำสอนหลวงปู่กำลังถูกตีให้คลาดเคลื่อน คุณศรัทธาครูอาจารย์คุณ ฉันก็รักศรัทธาครูบาอาจารย์ฉัน เห็นอยู่ตำตาว่าคำสอนนั้นๆ ไม่ใช่ จะไม่ให้ปกป้องครูบาอาจารย์ของตนบ้างเชียวหรือ
บางคนเขียนแช่งให้ลุงตายอย่างทรมานหรือลงนรก เพราะลุงไปล่วงเกินครูอาจารย์เขา ลุงก็ยังยืนยันว่าสิ่งที่ทำ คือมุ่งรักษาคำสอนหลวงปู่ ไม่เคยเอ่ยชื่อสำนักหรือชื่อเจ้าสำนักแต่อย่างใด
สุดท้าย เพียงมีคนเข้าใจปฏิปทาและคำสอนที่แท้ของหลวงปู่ มีศรัทธาที่ถูกต้อง ยึดธรรมมากกว่ายึดตัวบุคคล เพียงเท่านี้ ก็เป็นความสุขใจและภูมิใจที่ได้ทำเพื่อตอบแทนพระคุณหลวงปู่ตามกำลังสติปัญญา แม้ต้องแลกด้วยคำด่าว่าเสียดสีหรือสาปแช่งจากคนรุ่นลูกรุ่นหลานผู้มีศรัทธาสุดโต่ง ก็นับว่าคุ้มค่า
“พอ” (๑๔ เมษายน ๒๕๖๔)