สมัยที่หลวงปู่ดู่ยังมีชีวิต ผมเห็นหลวงปู่เผยแพร่บทสวดนี้ ท่านพูดแบบยิ้มๆ ว่าสวดแล้วไม่จน ท่านว่าเป็นของดี ท่านได้มาจากวัดประดู่ทรงธรรม
ดังนั้น หากใครถามว่าหลวงปู่ดู่ท่านเผยแพร่คาถานี้จริงไหม ก็ต้องตอบว่าจริงเช่นนั้น แต่ที่คลาดเคลื่อนออกไปนั้นมีอยู่อย่างน้อย ๔ ประการ
ประการแรก ก็เรื่องที่มาที่สมัยนี้บอกว่าท่านรจนาขึ้นเอง
ประการที่สอง ก็ชื่อเรียกที่เปลี่ยนจาก “คาถาบูชาพระ” เป็น “คาถามหาจักรพรรดิ”
ประการที่สาม ก็เรื่องอานิสงส์ที่เดี๋ยวนี้แต่งเติมและพรรณนากันอย่างเลอเลิศ จนดูคล้ายจะแปลงพระพุทธศาสนาไปเป็นลัทธิเทวนิยมที่นิยมสวดอ้อนวอนหวังผลดลบันดาลไปเสียแล้ว
ประการสุดท้าย ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ คือ การให้น้ำหนักกับคาถานี้ สมัยหลวงปู่มีชีวิต ใครๆ ก็รู้ว่าสิ่งที่หลวงปู่เทน้ำหนักให้อย่างเต็มที่ก็คือ การปฏิบัติสมาธิภาวนา ดังที่ท่านเรียกว่า “ทำงาน” ส่วนคาถาอะไรนี่เป็นเพียงส่วนปลีกย่อย ที่ช่วยด้านกำลังใจเพราะหวังอานิสงส์จากการสวดบ้าง รวมทั้งเป็นอุบายให้จิตไม่ฟุ้งซ่านบ้าง
แต่สมัยนี้ ต้องใช้คำว่าสวดแบบเอาเป็นเอาตาย สวดกันจนเป็นงานหลัก นี่ถ้าหลวงปู่ยังมีชีวิต ท่านคงนึกแปลกใจว่ากำลังทำอะไรกันอยู่
สมัยหลวงปู่ ไม่ปรากฏเห็นหรือได้ยินใครมาสวดคาถาแบบออกเสียงอย่างนี้ เพราะเขาสวดกันในใจ หรือถ้าจะสวดออกเสียง ก็ต้องที่ห้องพระที่บ้านตัวเอง และส่วนใหญ่สวดอย่างมากก็ ๓ จบ
เคยมีลูกศิษย์ไปอวดหลวงปู่ว่าเมื่อคืนเขาสวดมนต์ตั้งเป็นชั่วโมงๆ หลวงปู่ถามกลับว่า แล้วนั่งสมาธิภาวนากี่นาที เขาตอบว่า ๑๐ นาที หลวงปู่จึงว่า ทีหลังให้กลับกัน สวดแต่น้อย นั่งภาวนาให้มากๆ ท่านว่า “สวดมนต์เป็นยาทา ภาวนาเป็นยากิน” ดังนั้น เนื้อหาสาระหลักๆ จึงอยู่ที่การปฏิบัติภาวนา มิใช่การสวด
แต่ก็นั่นแหละ บางท่านอาจมีจริตนิสัยชอบการสวด นั่นก็ให้เป็นอัธยาศัยส่วนตัว แต่ไม่ควรถือเป็นแบบแผนสำหรับคนหมู่มาก อีกทั้ง มิใช่แนวทางที่หลวงปู่ท่านแนะนำสั่งสอนในสมัยที่ท่านมีชีวิต
เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจสำหรับผู้มาใหม่ หรือผู้ไม่รู้ ต่างก็มีศรัทธาอยากเผยแพร่ปฏิปทาของหลวงปู่ แต่หากไม่ใคร่ครวญให้ดี อาจกลายเป็นการเผยแพร่สิ่งที่มิใช่ปฏิปทาของหลวงปู่ หรืออาจถึงขั้นขัดแย้งกับคำสอนของหลวงปู่ไปเสีย
จึงขอฝากผู้ที่เคารพรักหลวงปู่ ทุกๆ ท่าน ได้พิจารณา
“พอ” (๒๒ กันยายน ๒๕๖๐)