ใช่ปฏิปทาหลวงปู่หรือไม่

หากสมัยนี้หรือสมัยใด มีผู้ประกาศว่าเป็นทายาทธรรม สืบทอดปฏิปทาของหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ วัดสะแก ก็พึงพิจารณาเทียบเคียงว่าปฏิปทาของท่านเหล่านั้นสอดคล้องกับหลวงปู่จริงหรือไม่ ได้แก่

๑. มีปรกติมักน้อย สันโดษ และขี้เกรงใจ

ท่านมักน้อยสันโดษทั้งในเรื่องอาหาร ผ้าสบงจีวร เสนาสนะ รวมทั้งการรักษาพยาบาล อีกทั้งจะไม่เอ่ยปากให้ใครๆ ทำอะไรให้ท่าน เพราะท่านมีนิสัยขี้เกรงใจเป็นที่สุด

๒. เคารพพระพุทธเจ้า พระธรรม และครูบาอาจารย์ ไว้เหนืออื่นใด

ท่านไม่ตีตัวเสมอพระพุทธเจ้าและครูบาอาจารย์ รวมทั้งยกธรรมเป็นใหญ่ ไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้ามิได้ทรงบัญญัติ เช่น แนวทางปฏิบัติลัดตรงหรือแหวกแนวใดๆ

๓. ไม่รับกิจนิมนต์

นี้เป็นปฏิปทาเฉพาะองค์ท่านที่ต้องการสงเคราะห์คนที่เดินทางมากราบนมัสการและสนทนาธรรมกับท่าน มาแล้วเป็นไม่เก้อ จะต้องได้พบได้เจอท่านแน่นอน

๔. เข้าถึงง่าย

ท่านไม่ให้ใครๆ มาทำตัวเป็นผู้จัดการ ใครที่มากราบนมัสการท่าน ย่อมสามารถเข้าถึงท่านได้โดยสะดวก อีกทั้งศิษย์เก่าๆ ก็จะถูกฝึกให้เปิดทางให้กับผู้มาใหม่ เพื่อให้ได้รับความอิ่มเอิบใจในการมากราบ ทำบุญ หรือสนทนากับหลวงปู่

๕. ไม่สั่งสมปัจจัยส่วนตัว

ข้าวของและปัจจัยที่มีคนมาทำบุญกับหลวงปู่ ท่านจะถือเป็นส่วนกลาง โดยให้ศิษย์รวบรวมถวายเจ้าอาวาสทุกๆ วัน

๖. มุ่งเน้นสร้างพระภายใน

แม้ท่านจะสร้างพระภายนอก แต่ท่านก็กล่าวย้ำให้เห็นความสำคัญของพระภายในว่าจะเป็นที่พึ่งที่ปลอดภัยมากกว่า พระภายนอกเป็นเพียงที่พึ่งอย่างหยาบ เป็นเพียงอุบายให้เข้าใกล้พระศาสนา

๗. มุ่งเน้นให้ปฏิบัติภาวนา

ท่านมุ่งเน้นให้เราปฏิบัติกิจคือการเจริญศีล และการเจริญภาวนา ท่านมักพูดหรือส่งสายตาให้สานุศิษย์แยกย้ายกันไปหามุมนั่งเจริญกรรมฐาน ไม่ให้เสียเวลากับการจับกลุ่มสนทนากันในเรื่องโลกๆ

๘. รังเกียจการเรี่ยไร

หลวงปู่ท่านไม่ชอบให้มีการเรี่ยไรหรือบอกบุญในวัด จนทำให้คนมาวัดต้องทำบุญเพราะความเกรงใจ หรือต้องเก้อเขินกับการที่ไม่ได้ร่วมปัจจัยทำบุญ (เพราะมีชาวบ้านยากจนมากราบท่านมาก) ท่านต้องการรักษาบรรยากาศที่สงบเรียบร้อย ชวนให้ปฏิบัติภาวนา ท่านว่าบุญจากการภาวนา มีอานิสงส์มากกว่ากิจกรรมบุญใดๆ

๙. ให้การปฏิสันถารเสมอหน้า

หลวงปู่ท่านให้การปฏิสันถารกับผู้ที่มากราบท่านด้วยอัธยาศัยอันงามและเสมอหน้ากันหมด ไม่ว่าจะมีฐานะหรือเป็นชาวบ้านยากจน หลวงปู่จะพูดเชื้อเชิญให้รินดื่มน้ำชาที่ตั้งอยู่เบื้องหน้าท่าน รวมทั้งให้รินแจกจ่ายกันให้ทั่วถึง ก่อนที่จะให้การปฏิสันถารด้วยธรรมต่อไปโดยสนทนาธรรมที่เหมาะกับผู้ที่มาหาท่าน

๑๐. ให้ความสำคัญกับปาฏิหาริย์แห่งธรรมยิ่งกว่าอิทธิปาฏิหาริย์

หลวงปู่มิได้ให้คุณค่ากับเรื่องฤทธิ์อภิญญายิ่งกว่าธรรม ธรรมที่ทำให้คนเป็นคนดี ธรรมที่ทำให้คนมีปัญญา ธรรมที่ทำคนให้ไม่ประมาทในชีวิต ไม่ประมาทในวัย ไม่ประมาทในความไม่มีโรค
ที่สรุปมา ๑๐ ข้อนี้ น่าจะพอใช้เป็นบรรทัดฐานเทียบเคียงเวลาสงสัยว่าปฏิปทานั้นๆ สอดคล้องกับปฏิปทาของหลวงปู่หรือไม่

“พอ” (๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๐)

5 1 vote
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments