หลวงปู่ดู่ท่านว่าเราไม่ใช่นักบวช ยังอยู่ในเพศฆราวาส ยังต้องทำมาหากิน ดังนั้นจึงต้องประคองตัวให้เหมาะกับเพศภาวะของเรา ท่านใช้คำว่า “เหยียบเรือสองแคม โลกไม่ให้ช้ำ ธรรมไม่ให้เสีย”
ถ้าเราประคองชีวิตไม่ดี ไม่มีดุลยภาพระหว่างทางโลกกับทางธรรม เรือชีวิตก็จะล่มได้
บางสำนักสอนให้ทิ้งสามี ทิ้งภรรยา ทิ้งอาชีพการงาน ฯลฯ อย่างนี้ นอกจากไม่เคยได้ยินจากหลวงปู่แล้ว ยังไม่สอดคล้องกับคำสอนหลวงปู่
หลวงปู่สอนอย่างพระพุทธเจ้า ว่าเราต้องทำหน้าที่ต่างๆ ตามหลักทิศ ๖ ให้ดี เช่น เป็นพ่อเป็นแม่ที่ดี เป็นลูกที่ดี เป็นศิษย์เป็นอาจารย์ที่ดี เป็นต้น
นอกจากนี้ ท่านยังสอนให้มีปัญญา จะทำความดีก็ต้องให้ถูกกาลเทศะ เพราะแม้เป็นความดี แต่หากทำไม่ถูกกาลเทศะ ก็ย่อมมิใช่บุญ กลับจะเป็นบาปได้ ที่เห็นชัดในตอนนี้ก็คือค่านิยมในการสวดคาถาในสถานที่ที่ต้องการความสงบ หรือถึงขนาดสวดส่งเสียงในขณะที่มีคนกำลังนั่งสมาธิภาวนา อย่างนี้ ถ้าหลวงปู่อยู่ จะต้องถูกท่านตำหนิแน่นอน
แม้แต่การชักชวนคนมาวัด หลวงปู่ท่านก็ยังให้เราพิจารณาให้ดี เพราะถ้าเที่ยวชวนคนเข้าวัดชนิดยัดเยียดโดยที่เขายังไม่พร้อมด้านศรัทธา แค่เพียงเขาปฏิเสธด้วยการพูดโกหกว่าติดธุระนั่นนี่ หรือทำสีหน้าไม่เชื่อ ไม่ศรัทธา หลวงปู่ก็ว่า “ถ้าจิตเขาปรามาสพระ เขาบาป แต่เราคือ ต้นบาป”
กาลเทศะจึงไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เพราะอาจพลิกบุญให้กลายเป็นบาปได้ เล่าเรื่องเหยียบเรือสองแคม และเรื่องกาลเทศะ เพื่อผู้ศรัทธาหลวงปู่ดู่ ได้เข้าใจคำสอนและปฏิปทาท่านมากยิ่งขึ้น
“พอ” (๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๓)