ก่อนที่หลวงปู่จะมรณภาพไม่นาน ลุงสมัยนั้นยังเป็นหนุ่ม เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปถึงวัดสะแกขณะที่หลวงปู่กำลังนั่งสนทนาอยู่กับชาวบ้านราว ๔-๕ คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนค่อนข้างสูงวัย
ลุงกราบหลวงปู่แล้วนั่งอยู่หลังชาวบ้าน เงี่ยหูฟังหลวงปู่สนทนาธรรมซึ่งเป็นตอนท้ายพอดี หลวงปู่พูดเป็นกึ่งปริศนาธรรมว่า
“ตราบใดก็ตามที่แกยังไม่เห็นความดีในตัว ก็ยังไม่นับว่าแกรู้จักข้า แต่ถ้าเมื่อใดแกเริ่มเห็นความดีในตัวเองแล้ว เมื่อนั้น ข้าจึงว่าแกเริ่มรู้จักข้าดีขึ้นแล้ว”
เมื่อหลวงปู่พูดจบก็มองข้ามมาที่ลุง เหมือนจะบอกว่าไม่เพียงชาวบ้านที่นั่งอยู่ข้างหน้าท่านเท่านั้น แม้ตัวลุงก็ไม่พ้นข่ายของคนที่ยังไม่รู้จักท่านจริงด้วยเช่นกัน
คำของหลวงปู่นี้เป็นข้อให้พึงสังวรว่าการที่สำคัญตนว่าเรารู้จักหลวงปู่แล้วนั้น อาจเป็นการรู้จักที่ผิวเผิน หรือเป็นการรู้จักเพียงนอก ๆ รู้จักแบบเห่อตาม ๆ กันไป หรือรู้จักบนศรัทธาที่ขาดปัญญา
อาจเห็นท่านเป็นเพียงพระศักดิ์สิทธิ์ที่มีเอาไว้อ้อนวอนขอนั่นขอนี่ หรือเสกนั่นเสกนี่ให้เท่านั้น มิได้ลึกซึ้งถึงคุณธรรมของท่าน ไม่ว่าความเมตตาที่กอปรด้วยปัญญาของท่าน ตลอดจนความสันโดษ ความอดทน และน้ำใจเสียสละของท่าน ความอ่อนน้อมถ่อมตน การวางตัวเสมอต้นเสมอปลาย ความเคารพเทิดทูนพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และอุปัชฌาอาจารย์ของท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปฏิภาณในการแสดงธรรม รวมทั้งเจตนาในการแสดงธรรมที่มุ่งเอาประโยชน์ของผู้ฟังโดยปราศจากการโอ้อวดคุณธรรมของตนเองแม้แต่น้อย อีกทั้งยังปราศจากการมุ่งหวังลาภสักการะหรือความอยากเด่นอยากดังใด ๆ
คำหลวงปู่ ชวนให้ระลึกเทียบเคียงกับพระพุทธโอวาทที่ตรัสกับพระวักกลิผู้เฝ้าตามใกล้ชิด ว่า
“วักกลิเอย ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม”
ฉันใดก็ฉันนั้น ความใกล้ชิดเพียงอย่างเดียวอาจมิใช่เหตุปัจจัยที่จะทำให้รู้จักพระพุทธเจ้าหรือหลวงปู่ครูบาอาจารย์ได้จริง หากแต่การน้อมเอาธรรมคำสอนของท่านมาปฏิบัติขัดเกลาตัวเองจนมีคุณธรรมความดีขึ้นมาในตัวต่างหาก ซึ่งยิ่งฝึกฝนอบรมจิตของเรามากเข้าเท่าใด ก็ยิ่งจะลึกซึ้งถึงคุณธรรมของครูบาอาจารย์เช่นหลวงปู่มากขึ้นเท่านั้น
คำหลวงปู่นี้ ลุงได้นำไปพิมพ์ในหนังสือหลวงปู่ทุกๆ เล่มที่ผ่านมา
“พอ” (๒๖ มีนาคม ๒๕๖๕)