๑. การภาวนาไตรสรณคมน์ คืออุบายในการทำความสงบใจอย่างหนึ่งที่หลวงปู่ดู่แนะนำ ได้แก่ การบริกรรมในใจว่า “พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ, ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ, สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ”
๒. การภาวนาไตรสรณคมน์ ผู้ภาวนาไม่ต้องสนใจลมหายใจ ปล่อยให้ลมหายใจเข้าออกเป็นไปตามธรรมชาติ เว้นแต่ตอนเริ่มต้น อาจหายใจเข้าออกลึกๆ สักสองสามครั้งเพื่อช่วยปรับร่างกายให้ปลอดโปร่งและผ่อนคลาย
๓. ขณะบริกรรมภาวนา ต้องมีความจดจ่อ ไม่วอกแวกส่งจิตแส่ส่ายไปในเรื่องอื่นใด แต่การจดจ่อนี้ก็ต้องให้พอดี ไม่หนักหรือบีบบังคับมากเกินไปจนเกิดความเครียด และก็ไม่เบาไปจนนิวรณ์มีความฟุ้งซ่านและความง่วง เป็นต้น เข้าครอบงำได้
๔. อาศัยการตั้งใจบริกรรมจนกระทั่งจิตบริกรรมขึ้นมาเอง หากประคองเช่นนี้เรื่อยไป และทำด้วยใจที่มีฉันทะ กระทั่งจิตเริ่มสงบ ก็อยู่ในความสงบเพื่อให้จิตมีกำลัง กระทั่งจิตเริ่มจะมีความคิด ก็ให้เปลี่ยนมาคิดพิจารณาความไม่เที่ยงของสังขารร่างกาย หรือพิจารณาความเป็นไปในชีวิต ฯลฯ โดยให้อยู่ในกรอบความจริงของสภาวะแห่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นใช้ได้
๕. การบริกรรมไตรสรณคมน์ นอกจากบริกรรมในตอนนั่งหลับตาแล้ว จะบริกรรมในใจต่อไปในระหว่างวันก็ได้ ถือเป็นการประคองจิตมิให้แตกหรือฟุ้งไปกับสิ่งภายนอกที่มากระทบ แต่หลวงปู่ที่ขอไว้ว่า อย่างบริกรรมตอนถ่ายหนักถ่ายเบา ตอนถ่ายหนักถ่ายเบาให้เปลี่ยนไปใช้อุบายภาวนาอย่างอื่น เช่น กำหนดสติตามดูกาย หรือพิจารณาความเป็นปฏิกูล เป็นต้น เพราะขณะบริกรรมไตรสรณคมน์ ท่านว่าเทวดามาลงรักษา
๖. การบริกรรมไตรสรณคมน์มิใช่เป็นของตายตัว หลวงปู่ว่า ถ้าใครคุ้นชินกับคำบริกรรมอื่นใด เช่น พุทโธ หรือ สัมมาอรหัง ฯลฯ ก็พึงใช้คำบริกรรมนั้นๆ เพราะการเปลี่ยนคำบริกรรมจากที่คุ้นชินอาจยิ่งทำให้จิตสงบยาก
๗. ขณะบริกรรมทำกรรมฐาน บางคนอาจมีความคิดผุดขึ้นมาในทางด่าว่าพระพุทธเจ้าหรือหลวงปู่ครูบาอาจารย์ จนจิตเศร้าหมอง อันนี้ก็ไม่ต้องวิตกมากไป หลวงปู่ท่านว่า เราไม่ได้เจตนา ไม่เป็นไร ความคิดมันขึ้นมาของมันเอง จากเศษกรรมที่เราเคยปรามาสพระ เวลามันผุดขึ้นมา เราก็โยโทโสฯ คือนึกขอขมาพระรัตนตรัย แก้กันอย่างนี้เรื่อยไป แล้วก็อย่าไปสนใจมัน นานเข้าก็จะหายไปเอง (ยิ่งไปสนใจเขา เขาเลยอยู่กับเรานาน)
“พอ” (๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒)