เดิมที การบูชาพระพุทธรูปที่บ้าน คนทั่วไปก็ย่อมสวดเพียงบท นะโมตัสสะฯ อะระหัง สัมมาสัมพุทโธฯ หรือบทอิติปิโสฯ เป็นต้น
แต่ภายหลัง บางวัดก็มีบทบูชาพระที่ประพันธ์หรือเรียบเรียงขึ้นเป็นการเฉพาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีพระประธานองค์สำคัญๆ เช่นพระแก้วมรกต หลวงพ่อโสธร หลวงพ่อวัดไร่ขิง เป็นต้น
ทีนี้ ในราวก่อนปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ศิษย์อาวุโสหลวงปู่ดู่ คือ นาวาเอกสำเภา คมสันต์ (เดิมท่านเป็นศิษย์หลวงปู่สีห์ มาทำบุญที่วัดสะแกตั้งแต่ก่อน พ.ศ. ๒๔๙๐) ได้ดำริที่จะสร้างพระพุทธรูปองค์ย่อมๆ (ฐาน ๕ นิ้วและ ๙ นิ้ว) สำหรับตั้งบูชาที่บ้าน แล้วขอให้หลวงปู่ดู่อธิษฐานจิตให้ พระรุ่นนี้นิยมเรียกกันว่า “พระสวย”
คุณสำเภาได้กราบเรียนขอคาถาหรือบทบูชาพระเป็นการเฉพาะบ้าง หลวงปู่จึงได้ให้บทบูชาพระ ดังที่เผยแพร่กันมากในปัจจุบัน นับแต่พระรุ่นนั้นเป็นต้นมา โดยหลวงปู่บอกว่า ไม่เพียงใช้สวดบูชาพระที่หลวงปู่อธิษฐานจิตให้เท่านั้น หากแต่สามารถใช้สวดบูชาพระที่ไหนๆ ได้หมด เพราะเป็นบทกลางๆ
สรุปว่า บทบูชาพระของหลวงปู่ดู่ ที่ขึ้นต้นว่า นะโมพุทธายะ พระพุทธไตรรัตนญาณฯ นี้ หลวงปู่ดู่ท่านเผยแพร่ครั้งแรกในราวก่อนปี ๒๕๒๐ เล็กน้อย เพื่อใช้สวดบูชาพระ ตามที่คุณสำเภากราบเรียนขอ
ถามว่าหลวงปู่ประพันธ์บทนี้ขึ้นเอง หรือเอามาจากที่ใด เข้าใจว่าคนรุ่นก่อนมิได้ถามท่าน แต่ลุงสิทธิ์เคยกราบเรียนถามท่าน ท่านว่าท่านเอามาจากสมัยที่ศึกษาที่วัดประดู่ทรงธรรม ส่วนว่าจะมาแบบเดิมๆ หรือนำมาปรับปรุง ลุงสิทธิ์ก็มิได้ถาม และไม่เห็นนัยสำคัญอันใด เอาว่าเป็นบทที่หลวงปู่ดู่เผยแพร่
ถามต่ออีกว่า คาถาบูชาพระ หลวงปู่มีคำแปลไหม
ลุงสิทธิ์เคยกราบเรียนถามหลวงปู่ หลวงปู่ตอบว่า “คาถาเขาไม่ให้แปลกัน” ท่านเห็นลุงสิทธิ์ทำหน้างงๆ ท่านจึงขยายความว่า “คาถาเขามุ่งสมาธิจิต” คือไม่ได้มุ่งให้มีอนุสติ (ตามรู้ความหมาย) อย่างบทธรรม
อีกประการหนึ่ง เหตุผลที่ไม่แปลก็เพราะเป็นธรรมดาของคาถา ที่เป็นการนำคำจากหลากหลายแหล่งมาเรียงต่อกัน หากฝืนแปลก็จะกลายเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” คือเนื้อหาไม่ต่อเนื่อง กระโดดไป กระโดดมา เอาว่าเข้าใจความหมายแบบรวมๆ ว่าน้อมบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมทั้งพระธาตุ และสิ่งที่เกี่ยวเนื่อง ก็เพียงพอ จะได้มุ่งสมาธิจิตในขณะสวดอย่างที่หลวงปู่ท่านแนะนำ
ถามต่ออีกว่า ก็เห็นมีคำแปลอยู่ในหนังสือนพรัตน์ ซึ่งจัดทำในสมัยหลวงปู่
คำตอบก็คือ เพราะเป็นบทความของศิษย์หลวงปู่ท่านหนึ่งที่ส่งมาร่วมในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเป็นเล่มต่อยอดจากหนังสือเล่มแรกที่ชื่อ “ไตรรัตน์” โดยที่หนังสือไตรรัตน์เป็นหนังสือเล่มเล็ก และเป็นบันทึกโอวาทหลวงปู่ดู่ล้วนๆ ซึ่งคุณเมธา อดีตประธานชมรมพุทธ มธ. เป็นผู้จัดทำ สำหรับหนังสือไตรรัตน์นั้น ได้มีการอ่านถวายให้หลวงปู่ฟังก่อนจะนำไปจัดพิมพ์ ถือว่าหลวงปู่ได้ตรวจทานเนื้อหาทั้งหมดแล้ว
ส่วนหนังสือนพรัตน์ซึ่งเริ่มมีบทความของศิษย์ลงไว้ด้วย ทำให้หนังสือหนาขึ้นมากกว่าเดิมอย่างน้อย ๓ เท่า ประกอบกับคณะผู้จัดทำเห็นว่าหลวงปู่ชราภาพมากแล้ว จึงมิได้รบกวนท่านตรวจเนื้อหาเหมือนเล่มแรก
ถามอีกว่า แล้วทำไมชื่อคาถาก็เปลี่ยนไป แถมวัตถุประสงค์แทนที่จะเป็นการสวดบูชาพระที่บ้าน กลับกลายเป็นชื่อคาถามหาจักรพรรดิ และสวดเพื่อปรับภพภูมิสัมภเวสี
อันนี้ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายหลังหลวงปู่ละสังขาร และเกิดขึ้นนอกสำนักวัดสะแก ดังนั้น มาถึงปัจจุบัน ทางวัดสะแก ได้พยายามรักษาของเดิมของหลวงปู่ จึงเป็นเหตุให้หลายคนสับสน ก็เป็นธรรมดา เพราะหลายๆ คน คุ้นชินกับข้อมูลจากการเผยแพร่จากภายนอกมามาก
เล่าไว้เพื่อให้ทราบที่มาที่ไป และเพื่อลดความสับสนของหลายๆ ท่าน ที่สำคัญ เพื่อรักษาของเดิมที่หลวงปู่ดู่ให้คงอยู่อย่างไม่คลาดเคลื่อนไปจากเดิม
(ขอบคุณพี่มานพ เลิศอิทธิพร สำหรับข้อมูลในส่วนของอดีตที่มาของคาถาบูชาพระที่เกี่ยวเนื่องกับนาวาเอกสำเภา คมสันต์)
“พอ” (๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๓)
(พระพุทธรูปที่เห็นคือ “พระสวย” พระพิมพ์สุโขทัย ปางมารวิชัย ที่นาวาเอกสำเภา คมสันต์จัดสร้าง ซึ่งเกิดขึ้นมาพร้อมกับคาถาบูชาพระ)
อนุโมทนาสาธุครับ ขอบพระคุณสำหรับคำตอบข้อเท็จจริงและคายข้อสงสัยในใจของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าคือ 1 บุคคลที่ได้มารู้จักกับบทบูชาพระจากการปฏิบัติแนวทางการปรับภพภูมิ ต่อไปนี้จะศึกษาและฝึกปฏิบัติกรรมฐานตามปฏิปทาหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ อย่างแท้จริง