
ครั้งหนึ่ง ด้วยความอยากรู้ ผมได้กราบเรียนถามหลวงปู่ว่า “หลวงปู่ครับ คาถาบูชาพระนี่มีความหมายอย่างไรครับ”
หลวงปู่ตอบว่า “คาถาเขาไม่ให้แปล”
หลวงปู่คงเห็นใบหน้าที่ยังสงสัย (ว่าถ้าไม่รู้ความหมายแล้วเราจะสวดไปทำไมกัน) ท่านจึงเมตตาชี้แจงเหตุผลให้ฟังว่า “เขา (สวด) มุ่งที่สมาธิจิต”
อ้อ เป็นเช่นนี้เอง คนโบราณเขาผูกคาถาขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องช่วยตะล่อมจิตให้เป็นสมาธิ (รวมทั้งให้จิตติดอยู่กับพระ)
เดี๋ยวนี้ ผมเห็นคนเขาพยายามแปลคาถาบูชาพระนี้เผยแพร่กันมาก สังเกตดู เนื้อความที่แปลจะกระโดดไปเรื่องนั้นที เรื่องนี้ที ไม่ต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน ทำให้ยิ่งเข้าใจในคำพูดของหลวงปู่มากขึ้นไปอีก
อ้อ แล้วก็ดูเหมือนมีความพยายามจะเปลี่ยนชื่อ “คาถาบูชาพระ” เป็น “คาถามหาจักรพรรดิ” อันนี้อาจจะดูเข้มขลังดี แต่ส่วนตัวเห็นว่า หลวงปู่ท่านบัญญัติไว้อย่างไร เราก็อย่าไปเปลี่ยนของท่านเลยจะดีกว่า
อีกประการหนึ่ง สุดท้ายแล้ว การปฏิบัติธรรม ต้องมุ่งไปหาความเป็นธรรมดา คือการเห็นความเป็นธรรมดาแห่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มิใช่มุ่งไปหาพลังลี้ลับพิสดารไกลตัวอะไร
ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระองค์ชี้ไปที่เมืองระหว่างทางที่เสด็จ แล้วตรัสเล่าให้พระอานนท์ฟังว่า ที่นั้น เดิมคือเมืองกุสาวดี ที่พระองค์เคยเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิถึง ๗ ชาติ มาบัดนี้สมบัติจักรพรรดิเหล่านั้นล้วนเสื่อมสิ้นไปหมดแล้ว
นี่ ขนาดพระพุทธเจ้ายังปลงวางกับสมบัติจักรพรรดิอันเป็นเรื่องโลกียะ แล้วเราจะไปยกย่องจักรพรรดิขึ้นเหนือธรรม ทำไม
ขออภัย หากบทความนี้ไปกระทบใจ หรือกระทบศรัทธาของบางท่าน แต่ถ้าไม่กล่าวไว้บ้าง ก็จะพากันเข้าใจผิดคิดว่าหลวงปู่ท่านบัญญัติสอนเช่นนั้น
“พอ” (๗ กันยายน ๒๕๖๑)