ความผิดในความถูก

เดี๋ยวนี้มักอ้างคำหลวงปู่ดู่แบบเฉไฉกันไปมาก เช่น 

 ๑) “ติดวัตถุมงคล ดีกว่าติดวัตถุอัปมงคล” …แล้วพากันส่งเสริมให้ขวนขวายเช่าวัตถุมงคลมาสะสม ทั้งๆ ที่ท่านไม่ได้สอนให้ “ต้องติด” สักหน่อย เพียงแต่ผู้ที่ยังข้องกับอบายมุขหรือสิ่งไม่มงคล การอาศัยติดวัตถุมงคล แล้วดึงตนให้ออกมาได้ ก็ย่อมดี แต่ถ้าไม่ได้ข้องกับอบายมุขหรือสิ่งไม่ดี ก็ไม่เห็นจำเป็นต้องไปติด หรือไปเสียเงินเช่าวัตถุมงคลมาสะสม ชอบก็เช่าตามอัธยาศัยส่วนตัว มิควรอ้างคำหลวงปู่

 ๒) “สร้างพระได้อานิสงส์ ๕ กัปป์” …ทีตอนที่ท่านเน้นให้สร้างพระในใจ ไม่พูดถึง เอาแต่อ้างอานิสงส์สร้างพระได้ ๕ กัปป์ เพื่อเรี่ยไรบอกบุญสร้างพระภายนอกไม่รู้จักจบจักสิ้น สร้างจนไม่มีที่ไว้ที่เหมาะควร หรือสร้างแล้วต้องเอาไปยัดเยียดให้กัน ที่สำคัญ กลายเป็นช่องทางหาเงินในทางไม่สุจริตได้ง่ายๆ

 ๓) “คนดีไม่ตีใคร” …อันนี้กลับกลายเอาไว้ใช้โต้กลับผู้ที่มาท้วงติงการกระทำผิดๆ ของตน ทั้งๆ ที่คำหลวงปู่นี้ ท่านหมายถึงการเบียดเบียดผู้อื่นด้วยอกุศลจิต หากทำด้วยกุศลจิต จะด่าจะตีก็ทำไปเถอะ เพราะเกิดคุณ เช่น ครูตีศิษย์ ตำรวจจับผู้ร้าย อุบาสกอุบาสิกาแจ้งจับพระที่ต้องปาราชิก เพื่อร่วมรักษาพระศาสนา เป็นต้น

เหล่านี้ล้วนเข้าข่าย “ความผิดในความถูก” คือคำพูดนั้นน่ะถูก แต่คนเอามาอ้าง อ้างใช้แบบผิดเจตนาของผู้พูดสอน

ถามว่าทำไมลุงสิทธิ์จึงพอเข้าใจเจตนาในคำสอนหลวงปู่ที่ยกมาข้างต้น คำตอบคือ ลุงสิทธิ์กับเพื่อนๆ ชมรมพุทธ มธ. เป็นผู้ร่วมกันบันทึกและเผยแพร่คำสอนหลวงปู่มาแต่ต้น คือตั้งแต่สมัยหลวงปู่ดู่ยังอยู่

นำมาเล่าเพื่อเสริมความเข้าใจในคำสอนหลวงปู่

“พอ” (๙ กรกฎาคม ๒๕๖๓)

0 0 votes
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments