การสวดจักรพรรดิและบทสัพเพช่วยปรับภพภูมิได้จริงไหมครับ?

คำถามนี้มีมาตลอด ตราบเท่าที่ยังมีผู้เผยแพร่คำสอนที่คลาดเคลื่อนจากที่หลวงปู่ดู่เคยสอน ก็ขอตอบในฐานะที่เคยไปกราบฟังธรรมหลวงปู่มา ๗ ปี ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังนี้

ตอบ แนะนำให้ตั้งคำถามใหม่ว่า “การแผ่เมตตามีผลจริงไหม?” จะตรงกว่าครับ

การแผ่เมตตาหรืออุทิศบุญ ย่อมมีผลจริง ไม่อย่างนั้นพระพุทธเจ้าคงไม่แนะนำพระเจ้าพิมพิสารให้กรวดน้ำอุทิศบุญให้พระญาติที่เป็นเปรต ช่วยให้คลายความทุกข์ ความหิวโหย จึงไม่มาส่งเสียงโหยหวนรบกวนอีก

ส่วนว่าจะถึงกับปรับภพภูมิได้จริงไหม อยากให้พิจารณากรณีที่พระพุทธเจ้าและพระมหาโมคคัลลานะเห็นเปรตที่มีเปลวไฟอยู่บนศีรษะ ระหว่างทางขึ้นลงเขาคิชฌกูฏ แต่ท่านก็ช่วยอะไรมิได้ เพราะเป็นบุพกรรมที่เขาทำมาที่จะต้องเสวยผลตามกฎแห่งกรรม พระพุทธเจ้าก็ไม่สามารถฝืนกฎแห่งกรรมได้

แม้ในสมัยหลวงปู่ดู่ยังอยู่ ท่านก็กล่าวถึงเปรตปากซอยวัดสะแก ท่านให้พวกเราช่วยกันอุทิศบุญให้เปรตอยู่เป็นปี กว่าท่านจะไม่พูดถึงอีก

ตามหลักพระพุทธศาสนา เปรตเพียง ๔ ชนิด (จาก ๑๒ ชนิด) ที่สามารถรับส่วนบุญได้ นอกนั้น เป็นประเภทกรรมหนักจนไม่สามารถรับส่วนบุญจากใครๆ ได้ และถึงแม้เป็นประเภทที่รับส่วนบุญได้ ก็ไม่ได้แปลว่ารับการอุทิศบุญแล้วจะเป็นปัจจัยให้เปลี่ยนภพภูมิได้ เพราะขึ้นกับกฎแห่งกรรม ว่าเขาใกล้จะพ้นวิบากกรรมชั่วหรือยัง ซึ่งผู้แผ่เมตตาหรืออุทิศบุญไม่มีอำนาจจะไปฝืนกฎแห่งกรรมได้

คำอธิบายเสริม กรณีมีการเผยแพร่ว่า บทสัพเพ พุทธาฯ ใช้เพื่อการอุทิศส่วนบุญนั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะบทนี้ หลวงปู่ดู่สอนว่าเป็นบทอาราธนาพระเข้าตัว ใช้ตอนนั่งสมาธิเสร็จ

ส่วนบทอุทิศส่วนบุญที่หลวงปู่สอน คือ “พุทธัง อนันตังฯ” อันเป็นการอธิษฐานขอคุณแห่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทั้งหมดทั้งมวล มาเป็นปัจจัยเกื้อหนุนแก่การอุทิศส่วนบุญ

ส่วนบท “นะโมพุทธายะฯ” สมัยหลวงปู่ ท่านเรียกว่า “คาถาบูชาพระ” มิใช่ “คาถาจักรพรรดิ” (ดูได้จากใบคาถาที่หลวงปู่แจกผู้ที่มาเช่าบูชาพระ ให้เอาไปสวดบูชาพระที่บ้าน) ซึ่งก็ไม่ใช่บทแผ่เมตตาหรือปรับภพภูมิแต่อย่างใด หากจะสำเร็จผลของการแผ่เมตตา ก็คงด้วยการตั้งจิตเจตนาที่จะอุทิศบุญ เรื่องคาถาต่างๆ (แม้สวดไม่ถูก) ก็เป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น

(จบคำตอบสำหรับคำถาม)

ภาคเสริมความเข้าใจ

ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ความประเสริฐของการเกิดมาชาติหนึ่งๆ อยู่ที่การอบรมกายและจิตตามหลักไตรสิกขา ซึ่งไม่ว่าพระพุทธเจ้าหรือหลวงปู่ดู่และพระสุปฏิปันโนทั้งหลายก็ล้วนสอนลงในจุดเดียวกันนี้

การเที่ยวสงเคราะห์ดวงวิญญาณหรือสัมภเวสีทั้งหลายไม่ใช่เป้าหมายที่จะทุ่มเททั้งชีวิตหรือหมดเวลาไปกับสิ่งนี้ราวกับว่าเป็นกิจหลักของการเกิดมา แล้วพากันเข้าใจว่าเป็นวิถีของพระโพธิสัตว์ ซึ่งไม่เคยปรากฏในพระสูตร

พระโพธิสัตว์ตามแบบพระพุทธเจ้าต้องบำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศ (กล่าวอย่างละเอียดเป็น ๓๐ ทัศ) ถ้านึกไม่ออก ให้นึกถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙ คือต้องบำเพ็ญประโยชน์ด้วยความเสียสละ พูดอย่างไร ทำอย่างนั้น ทำอย่างไร พูดอย่างนั้น มั่นในอุดมการณ์เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนเป็นอันมาก (เน้นคนเป็นๆ ไม่ใช่ดวงวิญญาณ) ส่งเสริมให้คนทั้งหลายมีปัญญาและพึ่งพาตนเองได้ ทั้งอดทนต่อการล่วงเกินด้วยอุเบกขาธรรมอันยิ่ง มีศีลและเนกขัมมะที่ไม่บกพร่อง สันโดษในวัตถุสิ่งเสพ ที่สำคัญ ต้องพัฒนาปัญญาและใคร่ครวญเพื่อจะทำกิจให้ออกมาอย่างดีคือมีประโยชน์ที่สุดโดยปราศจากความอยากได้หน้า กล่าวคือทำอย่างปิดทองหลังองค์พระปฏิมา นี้จึงจะเป็นวิถีของพระโพธิสัตว์ที่แท้จริง

ขอฝากคำตอบนี้ไว้ในโลกออนไลน์เพื่อแก้ข้อสงสัยของผู้ศรัทธาหลวงปู่ดู่ซึ่งมาภายหลัง ได้เข้าใจปฏิปทาของหลวงปู่อย่างไม่คลาดเคลื่อน

“พอ” (๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๓)

5 1 vote
Article Rating
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments